July 2, 2010
“สุดยอดแท็กซี่ทำให้คุณถึงที่หมายเร็วขึ้น 20 เปอร์เซนต์ แต่การจ้างสุดยอดอัจฉริยะเข้ามาทำงานในบริษัท คุณจะได้ผลงานที่ดีกว่าเดิม 100 เท่า”

Steve Jobs ซีอีโอ Apple

ความวุ่นวายของสถานการณ์บ้านเมืองในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้หัวข้อสนทนาแก้เหงาเมื่อยามที่เราต้องย่างเท้าขึ้นรถ Taxi ก็คงหนีไม่พ้น “การเมือง” ที่แสนชวนหดหู่ละเหี่ยใจ
หากทว่าในยามฝนพรำ เมื่อเที่ยงวันศุกร์นี้ ตัวผมเองได้พาน้องสาวแสนสวยไปสมัครงานที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ระหว่างเดินทางนั้น ผมก็ได้พร่ำสอนเทคนิคเคล็ดลับในการสอบสัมภาษณ์ไปอย่างเต็มพิกัด และอย่างที่คุณก็คาดการณ์ได้ Taxi แสนดีที่กำลังนำพาเราไปสู่ที่หมาย ก็ได้เข้ามาร่วมวงสนทนาด้วยอย่างสนุกสนานเมามันส์
ผมเห็นว่า “ปรัชญาธุรกิจ” ของท่าน Taxi คันนี้ยอดเยี่ยมไม่ธรรมดาเลย จึงปรารถนาที่จะนำมาถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง
1. วัยรุ่น คือ ช่วงเวลาที่งดงามชวนฝันที่สุดในชีวิต
ในช่วงอายุ 15-25 คือ วัยทดลองเรียนรู้ อายุ 25-35 คือ การตามหา “งาน” ที่จะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต อายุ 35-55 คือ การสร้างเนื้อสร้างตัว โดยการจดจ่อกับงานที่ทำให้ดีที่สุด อายุ 55-80 คือ การเกษียณพักผ่อน
ในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นโลกแห่งความฝัน โลกที่ทุกคนหยิบยื่นน้ำใจให้แก่กัน ซึ่งเราก็ควรใช้ชิวิตให้เต็มที่ เรียนรู้และดื่มด่ำในทุกอย่างที่ปรารถนา
แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ก็เหมือนก้าวเดินสู่เส้นทางสายใหม่ ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิง เพื่อความอยู่รอด ดังนั้น เราจึงต้องปรับระบบสมองของเราใหม่หมด
นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ยึดติดกับ “สาขา” ที่ร่ำเรียนมา จึงพลาดโอกาสในการตามหางานที่เหมาะสมกับตัวเอง และกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป
อย่าปล่อยให้ “ปริญญา” มาเป็นตัวฉุดรั้งชีวิตที่เหลือ เพราะคนเราต้องก้าวเดินไปสู่โลกกว้างที่เต็มไปด้วยเส้นทางที่คดเคี้ยว
2. ทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลผิดพลาด แต่ต้องรู้จักเชื่อมโยงให้เป็น “ธุรกิจ”
พ่อแม่บางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจที่ลูกรัก จะยึดอาชีพนักดนตรีหรือศิลปิน เพราะมองว่าเป็นการละเล่นมากกว่าการทำงาน
แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า “ธุรกิจบันเทิง” ก็สร้างรายได้ให้เจ้าของกิจการเป็นระดับพันล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็น “อากู๋” แห่งแกรมมี่ หรือ “เฮียฮ้อ” แห่งอาร์เอส
ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ “ทำอะไร” สนุกหรือน่าเบื่อ แต่สิ่งสำคัญคือ การแปลง “งานที่รัก” ให้กลายเป็นธุรกิจทำเงิน
3. มนุษยมีศักยภาพจำกัด อยากรวย 100 ล้าน ต้องจ้างลูกน้อง 100 คน
อย่าคิดว่าตนเองเก่ง อย่าประเมินตัวเองสูงเลิศลอยกว่าความเป็นจริง เพราะทุกคนก็ล้วนมีขีดจำกัดด้านเวลาและมันสมอง
หากประเมินว่าตัวเองสามารถทำงานได้ปีละ 1 ล้านบาท แต่ปรารถนาจะเป็นเจ้าของกิจการ 100 ล้าน ก็ต้องรู้จักแสวงหา “คนเก่ง” ที่สามารถทำเงินได้ปีละ 1 ล้านบาทมาให้ได้ 100 คน
ความร่ำรวยของธุรกิจ จึงไม่ได้อยู่ที่ “ความสามารถ” ในการทำงานของคน 1 คน แต่อยู่ที่การแสวงหา รักษา และบริหาร “พนักงาน” 100 คน ให้ร่วมกันทำงานได้ 100 เท่า
4. จงเริ่ม “ธุรกิจ” จากศูนย์
การนำเงินเก็บจากการทำงานหรือแบมือขอพ่อแม่ เพื่อนำมาลงทุนในธุรกิจ ย่อมเป็นวิธีการที่ผิดพลาด เพราะเรายังขาดความรู้ที่ “เพียงพอ” และเมื่อบริษัทล้มเหลว ตัวเราก็จะกลายเป็นคน “ติดลบ” และหยาดแขยงที่จะเริ่มธุรกิจครั้งใหม่
วิธีการง่ายๆในการเริ่มต้นธุรกิจ คือ การทำงานในตำแหน่ง “เซลล์” ที่มีค่าคอมมิสชั่น เพื่อจะได้ซึมซับทั้งความสำเร็จล้มเหลวในการขายสินค้า
ในยุคปัจจุบัน “ธุรกิจ” ที่สามารถลงทุนได้โดยไม่ต้องใช้เงินหรือใช้เงินน้อยมาก ก็คือ ธุรกิจข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย ที่ปรึกษา เขียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งดนตรี
แน่นอนว่า ยังมีแนวคิดดีๆจาก Taxi พิสดารคนนี้ ที่ผมไม่ได้นำมาเล่าเรื่อง เนื่องจากพื้นที่หน้ากระดาษที่จำกัด แต่สิ่งที่ผมและน้องสาวได้รับจากการรอนแรมครั้งนี้ ก็มีค่ามากมายกว่าเงิน 209 บาทที่ใช้เป็นค่าเดินทาง
“ทุกสิ่งรอบตัวล้วนเป็นครูของเรา”
|
This entry was posted on 7:56 PM and is filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. You can leave a response, or trackback from your own site.

0 comments: