August 5, 2009
คนเราทุกคนล้วนเติบโตมาพร้อมกับ “ความฝัน” แต่จะมีใครสักกี่คนที่ได้ทำในสิ่งที่ฝันไว้
อย่างไรก็ตาม ในยุคโลกาภิวัตน์อันเปิดกว้างเสรีนั้น ได้ช่วยทำให้ “ทุกคน” สามารถทำตามความฝันได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้และความมั่นคงอีกต่อไป เนื่องจากว่า “ทุกความฝัน” สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินได้ ขอเพียงแต่ “ความฝัน” นั้นมีคุณค่า


Steve Jobs คือ จอมคนแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยน “ความฝัน” ให้กลายเป็นธุรกิจพันล้านได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี และสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี 2548 ได้กลายเป็นเสมือน “คัมภีร์อันยิ่งใหญ่” ของคนหนุ่มสาวผู้มีความฝันดีๆทั่วโลก”
“จงทำในสิ่งที่รัก You’ve got to find what you love” นี่คือ เคล็ดลับของ Jobs
บางคนอาจไม่โชคดีเหมือน Steve Jobs ที่สามารถแปรเปลี่ยน “ความฝัน” ให้กลายเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม วิธีประนีประนอมระหว่างความฝันและความจริงก็คือ การค้นหาสิ่งที่รัก แล้วแปรเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจ
หลังจากสุนทรพจน์ในปี 2548 สโลแกนที่ว่า “ทำในสิ่งที่รัก” ได้กลายเป็นวลีเด็ดที่ระบาดไปทั่วประเทศไทย บางคนเพียงพูดเพื่อให้ตัวเองดูดี บางคนพูดไว้ปลอบใจตัวเอง แต่บางคนได้ลงมือทำอย่างไม่ลดละ
แต่ประเด็นที่คนส่วนใหญ่ละลืมไปก็คือ “สิ่งที่รัก” และ “ธุรกิจ” อาจมีช่องว่างในระดับหนึ่ง ดังนั้น หากใครต้องการทำให้ความฝันและสิ่งที่รักกลายมาเป็นความจริง ก็จงอย่าหยุดไว้แค่การทำในสิ่งที่รัก หากต้องรู้จักพลิกแพลงกลยุทธ์เพื่อเอาชนะอุปสรรคทั้งมวลที่จะมาทำลายความฝัน อันสวยงามของเรา
1. ค้นหา “กัลยาณมิตร” ที่จะมาร่วมสร้างทางฝัน
แม้แต่จอมคนระดับเทพอย่าง Steve Jobs ก็ยังมี Steve Wozniak เพื่อนคู่หูและทีมงานอีกเป็นขโยงที่ช่วยเติมเต็มซึ่งกัน และกัน ดังนั้น จงอย่าลังเลที่จะแบ่งปัน “ความฝัน” ให้คนรอบข้าง
แต่เนื่องจากโลกนี้เป็นโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น จึงยากจะรู้ได้ว่า “คน ที่ฝันแบบเดียวกับเรา อยู่ตรงมุมไหนของโลก” อย่างไรก็ตาม ในยุคคลื่นลูกที่ 3 ที่ต้นทุนการสื่อสารมีราคาถูกมหาถูก แถมยังมีเครื่องมือให้เลือกใช้มากมาย ทั้งโทรศัพท์มือถือ Hi5 และล่าสุด Twitter คนที่ค้นพบสิ่งที่รัก แต่ยังไม่ค้นพบเพื่อนร่วมฝัน ก็ยังอย่าลังเลที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่น่าทึ่งเหล่านี้
สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ บางครั้งคนที่เราต้องการ ก็อาจเดินผ่านเฉียดไปเฉียดมาตรงหน้าเรา จงอย่าพึ่งพาแต่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่จงใช้ทุกสัญชาติญาณในตัวเรา เพื่อตามหา “คนที่ใช่”
2. “ความรัก” ที่ดี ย่อมต้องมีการเสียดสีขัดแย้ง
“ทีมงาน” ไม่ได้มีไว้เห็นด้วยเพียงอย่างเดียว การสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้น ยังต้องการความเห็นที่แตกต่างหรือบางครั้งอาจขัดแย้งอย่างประนีประนอมกันไม่ ได้เลย จงอย่าปล่อยให้ “อัตตา” ส่วนตัวมาทำลาย “ความคิดดีๆ” และบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์
แต่เช่นเดียวกับ “ความรัก” เราไม่อาจปล่อยให้ความขัดแย้งนั้นลุกลามไปจนกลายเป็นความบาดหมางและถึงขั้น ต้องหย่าร้างแยกทีมกัน ดังนั้น ทุกคนในทีมจึงต้องมีความละเอียดอ่อนในการบริหารระหว่างความขัดแย้งที่สร้าง สรรค์กับความขัดแย้งที่บ่อนทำลาย
3. แสวงหา “ผู้อุปถัมภ์”
ผลงานที่ยิ่งใหญ่ ย่อมต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ แต่ทุกวันทีมงานและตัวเราล้วนต้องกินต้องใช้ หากรอให้ผลงาน “พิสูจน์ตัวมันเอง” ก็อาจจะสายเกินไป ดังนั้น การทำสิ่งที่รักอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ยังต้องรู้จักสื่อสารความรักนั้นอย่างมี “ศิลปะ” เพื่อให้บุคคลภายนอกได้ร่วมซาบซึ้งดื่มด่ำ จนกระทั่งสามารถดึงดูด “ผู้ อุปภัมภ์” ให้เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า นักธุรกิจ นักการเมือง ศิลปิน ฯลฯ หรือใครก็ตามที่มองเห็นคุณค่า
อย่างไรก็ตาม แต่ละคนก็มักจะมีจุดยืน มุมมอง และอคติไม่เหมือนกัน ดังนั้น การจะสื่อสารให้คนอื่นรับรู้และกระหายที่จะสนับสนุนนั้น ผู้สื่อสารจะต้องมีศิลปะที่ยืดหยุ่นเปิดกว้าง สามารถปรับการสื่อสารให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์
4. ความรักไร้ขีดจำกัด แต่ทรัพยากรมีจำกัด
หลุมพรางของการทำสิ่งที่รัก ก็คือ การตกอยู่ในห้วงความฝัน จนกระทั่งละเลยความจริง เพราะถึงที่สุดแล้ว โลกนี้ก็เต็มไปด้วยความขาดแคลนและการต่อสู้ช่วงชิง ดังนั้น ไม่ว่าจะทำในสิ่งที่รักหรือไม่รัก ทุกคนก็ล้วนแต่ต้องแสวงหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้ เกิดประโยชน์สูงสุด
แน่นอนว่า คนที่มีความฝันเหมือนกับเรามีอยู่มากมาย แต่คนที่พร้อมจะร่วมทำตามความฝันกับเราอย่างจริงจังนั้น มีอยู่นับคนได้ ยิ่งกว่านั้น ยังมีบางคนที่ขาดแคลนคุณสมบัติอันเหมาะสม ดังนั้น แม้แต่การค้นหากัลยาณมิตรที่จะมาร่วมสร้างฝัน ก็ยังต้องชาญฉลาดในการเลือกเฟ้น ไม่ใช่เพียงแต่รักและทุ่มเทเท่านั้นก็จะร่วมงานกันได้อย่างราบรื่น
การแสวงหา “ผู้อุปถัมภ์” ก็เช่นกัน ไม่ใช่จะต้องกวาดเหวี่ยงแหไปทุกคน เพราะทุกการสื่อสารนั้นมีต้นทุน ดังนั้น จึงต้องรู้จักเลือก “ผู้อุปถัมภ์” อย่างเหมาะสม บางคนชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของเรามาก แต่กลับมีทรัพยากรที่จะสนับสนุนเราไม่มากนัก จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องรู้จักพิเคราะห์แยกแยะ
5. เสาะหา “สถานที่โรแมนติค” เพื่อจุดไฟแห่งรักให้ลุกโชนตลอดเวลา
แม้จะอยู่ท่ามกลางความขาดแคลนของทรัพยากร ตามที่ได้กล่าวไปในข้อ 4 แต่กระนั้น “นักรักแห่งการสร้างฝัน” ก็สามารถเจียดแบ่งทรัพยากรบางส่วนอย่างฉลาด เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ และแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่รักให้ลุกโชติช่วงอยู่ตลอดเวลา
การตกแต่งสถานที่ทำงานให้สวยเลิศ ขณะที่บริษัทยังไม่มั่นคง อาจเป็นความคิดที่ไม่เข้าท่า แต่การออกไปผ่อนคลายนอกสถานที่เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเรียกความสดชื่นกลับมา ย่อมเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ายิ่ง
จงอย่าลืมว่า “พลังความรัก” สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ดังน้น จงแสวงหาสถานที่และบรรยากาศที่โรแมนติค เพื่อกระตุ้นพลังแรงบันดาลใจให้ตื่นตัวอยู่เสมอ
…………………….
คำขอบคุณ
ขออุทิศบทความนี้ ให้กับเฮีย “ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” ชายหนุ่มผู้เป็นเสมือนพี่ชายที่แสนดี ซึ่งได้จุดประกายความคิดเรื่อง Steve Jobs และการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระด้วยการทำในสิ่งที่รัก และที่จะลืมไปไม่ได้คือ Twitter ที่ช่วยให้การสื่อสารทั้งหมดเป็นไปได้โดยแทบไม่มีต้นทุนใดๆเลย นอกจาก “ห้วงเวลายามค่ำคืนที่เงียบสงัด”
|
This entry was posted on 8:04 PM and is filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. You can leave a response, or trackback from your own site.

0 comments: