November 29, 2007
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ : Siam Intelligence Unit
ชื่อบทความนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากคำกล่าวของขงจื้อ ซึ่งนำมาอ้างอิงในหนังสือ “รัฐศาสตร์ถังไท่จง” ของ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผมได้รับการจุดประกายจากคุณก่อศักดิ์มากมาย เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550
ผมได้มอบหนังสือ “จุดประกายจอมคนแผ่นดินเดือด” เพื่อตอบแทนความรู้ยิ่งใหญ่ที่ท่านให้กับสังคมไทย

คนทั่วไปเข้าใจว่า บ้านเมืองต้องกำหนดโดยผู้นำหรือคนเพียงไม่กี่คน เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่ อาจถกเถียงได้มากมาย แต่สิ่งที่ต้องการประยุกต์ใช้ คือ การปลุกจิตของเราให้มุ่งมั่น มีพลังในการผลักดันตนเองสู่ความสำเร็จ หากเราคิดว่าตนเองเป็นคนธรรมดา เมื่อเจออุปสรรคในการทำงาน เราย่อมท้อถอย แต่หากเราเชื่อว่า ภารกิจการงานที่ทำ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หากสามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ อาจมีส่วนกำหนดชะตากรรมประเทศไม่มากก็น้อย Harry Porter เป็นตัวอย่างที่ดี หรือแม้แต่ Bill Gates และ Steve Jobs เขาได้กำหนดชะตากรรมของประเทศอเมริกาและโลกอย่างไรบ้าง คงไม่ต้องอธิบายมาก และผมอยากให้ท่านคิดว่า ความฝันของท่าน ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่สามารถกำหนดประเทศได้เช่นเดียวกัน การคิดเช่นนี้ต้องระวัง เพราะอาจทำให้หลงตัวเอง แต่การไม่คิดเช่นนี้ย่อมอันตรายเช่นกัน เพราะในห้วงยามที่เราหดหู่ เราจะไม่มีพลังแรงใจพอจะผลักดันความสำเร็จ
ระหว่างประชุมเพื่อก่อร่างสร้าง SIU ผมบอกคุณสุรศักดิ์ว่า พวกเราแต่ละคน อาจมีมันสมองไม่เท่า Steve Jobs แต่ถ้าพวกเรารวมกัน 3 คน อาจพอฟัดพอเหวี่ยง คุณสุรศักดิ์ไม่เห็นด้วย บอกว่า เราไม่ควรเพ้อฝันขนาดนั้น ผมบอกว่า เราอย่าไปเปรียบเทียบกับ Jobs ตอนสำเร็จแล้ว เราต้องเปรียบเทียบในตอนที่เขาเป็นคนธรรมดา และเริ่มสร้างตัว เราจะพบว่า เราไม่ได้มีอะไรที่ด้อยกว่าเขาเลย ดังนั้น อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เราต้องทำได้

รูป สตีฟ จ็อปส์ เจ้าพ่อแห่งการสร้างแรงบันดาลใจ และการทำในสิ่งที่เขารัก : ภาพประกอบจาก วิกิพี เดีย
คุณกานต์ ยืนยง หรือ ตู้เฟิ่งซันแห่งสยามประเทศ ได้บอกกับผมถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งได้พูดประมาณว่า “แรงบันดาลใจ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ แต่หนังสือทำนองนี้มีมากแล้ว น่าจะมาเน้นที่ความจริงและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างชัยชนะในการแข่งขันจะดีกว่า” ผมเห็นด้วยในระดับหนึ่ง แต่ผมกลับตระหนักยิ่งว่า การสร้างแรงบันดาลใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นพื้นฐานอันดับแรก ที่คนซึ่งต้องการประสบความสำเร็จพึงมี ผมจึงต้องนำมาเน้นย้ำไว้อีกครั้ง และการสร้างแรงบันดาลใจนั้นเป็นศิลปะชั้นสูง ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าแค่ใช้คำพูดสวยๆแล้วจะประสบผล ยังต้องมีความจริงบางอย่างประกอบด้วย แต่ยิ่งกว่านั้น ยังต้องมีระบบขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อให้ซาบซึ้งซึมซ่านเข้าไปในหัวใจ
หากหนังสือทั่วไป ทำให้ท่านมีแรงบันดาลใจที่ดีอยู่แล้ว ทำไมในบ้านเมืองของเรา จึงยังมีคนขี้เหล้าเมายา แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ ผมไม่ได้มองปรากฏการณ์อบายมุขว่าเป็นเพียงแค่ ความอยากกระหายส่วนตัว แต่ผมมองในมุมที่ลึกกว่านั้น คือ การคิดไม่ตก แก้ปัญหาไม่ได้
วันก่อนผมนั่ง Taxi ได้รับแรงบันดาลใจซาบซึ้งยิ่ง เขาบ่นว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ทำมาหากินยากมาก ตอนแรกผมนึกว่า เขาจะเป็นเหมือน Taxi และ แม่ค้าที่ผมได้กล่าวถึงในหลายครั้งที่ผ่านมา แต่เขากลับเป็นผู้แข็งแกร่ง ท่ามกลางคนธรรมดา เป็นบริษัทผู้นำตลาด สามารถอยู่รอดในช่วงที่คนอื่นย่ำแย่ ผมถามเคล็ดลับในการทำเงินของเขา คำตอบเรียบง่ายมาก ง่ายจนนึกไม่ถึง แต่หากคิดให้ดี จะพบว่าเป็น “สัจจะ” ยุทธศาสตร์ คือ รับลูกค้าทุกคน ไม่เกี่ยงว่าไปไกลแค่ไหน หากไปต่างจังหวัด ย่อมมีอัตราที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย สำหรับย่านรถติดไม่ใช่ปัญหา เพราะในกรุงเทพ ปรากฏการณ์รถติดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา การคำนวณที่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้เขาพบว่า ไปต่างจังหวัด 1 ครั้ง คุ้มเกินคุ้ม ตกชั่วโมงละ 400 บาท แต่เขาไม่เข้าใจว่า ทำไม Taxi ส่วนใหญ่ไม่ยอมไป ที่สำคัญ เขาถือหลักว่าบริการลูกค้าเต็มที่ คิดในแง่ร้าย ลูกค้าทุกคนเป็นขาจร แต่คิดในแง่ดีได้ฝึกฝนการบริการ ได้รับน้ำใจและคำชมเชย ที่สำคัญ ผู้โดยสารบางคนใจดี แถมเงินพิเศษให้เป็นรางวัลตอบแทนความดี
นี่คือ ตัวอย่างของ “Taxi ไม่ยอมจำนน” บางคน เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ในใจคิดไปต่างๆนานา สุดท้าย เครียด ต้องแวะทานเหล้า ซ้ำเติมเงินในกระเป๋า บางคนดีกว่า จอดแวะคุยกับเพื่อน กลับบ้านพักผ่อนเพราะหาลูกค้าไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่วิถีที่ถูกต้อง ยังมี Taxi ที่ไม่ยอมแพ้ และพิสูจน์ว่า หากมุ่งมั่นตั้งใจ อุปสรรคย่อมพ่ายแพ้ ที่สำคัญ ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ และความพยายามมากมายอย่างที่คิด เพียงแต่ทำไปเรื่อยๆ ทำด้วยใจรัก ทุกสิ่งย่อมคลี่คลาย
นึกไปถึงสมัยเป็นนักศึกษา ผมไปช่วยเพื่อนขายสมุด ปรากฏว่า สมุดของผมขายดีมาก ตอนแรกผมไม่รู้ตัว แต่เมื่อสิ้นวัน วิเคราะห์สถานการณ์ ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ เล็งไปที่นิสิตเข้าใหม่ แต่ผมเดินขายไปทั่ว เจาะลูกค้าทุกกลุ่ม จึงไม่มีคู่แข่งในชั้นปีอื่น ได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะทุกชั้นปี ล้วนต้องการสมุด ไม่ใช่เฉพาะปี 1
อยากสรุปว่า หากเราทำสิ่งใด อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หากเรามุ่งมั่นจริงจัง รู้จักพลิกแพลงตามสถานการณ์แล้ว ผลที่ได้ย่อมเกินความคาดหมาย เราจะเข้าถึง “วิถีแห่งเต๋า”
ผมมีความรู้สึกลึกๆที่แรงกล้าว่า “อยากเขียนหนังสือ เพื่อวิเคราะห์ จอมคนแผ่นดินเดือด” ผมไม่ได้คิดว่าเป็นงานที่ยาก ผมเพียงแต่รู้สึกว่า ผมอยากทำ ผมรักเรื่องนี้ ผมศึกษาประเด็นต่างๆอยู่สักพัก เริ่มลงมือเขียน ได้มา 20 หน้า ผมรู้สึกว่า ผมทำได้ไม่เลว แต่ยังมีข้อบกพร่องบ้าง พอนำให้ คุณมาร์ค หรือ พี่สั้งหวี่เถียนแห่งสยามประเทศ พิจารณา เขาวิจารณ์มาพอสมควร ผมจึงเริ่มปรับปรุงอีกครั้ง ประจวบกับยามนั้น “จอมคนแผ่นดินเดือด” ทยอยตีพิมพ์ออกมา ผมอ่านแล้วมีความซาบซ่าน จึงคิดว่าต้องมุ่งมั่นต่อไป แต่ผมไม่ได้หมกมุ่นกับมันจนเกินพอดี ทำให้เกิดภาวะ “จิตว่าง” อย่างไม่คาดคิด ภาวะเช่นนี้เป็นเหมือนทางสายกลาง ที่นำพามนุษย์ให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มานับไม่ถ้วน และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ความคิดสร้างสรรค์หนึ่งได้แว๊บขึ้นมาในใจผม “การเมืองชนชั้นล่าง” เมื่อรอยต่อเสี้ยวสำคัญปรากฏขึ้น ทุกอย่างที่เคยตีบตันมืดมิดกลับกระจ่างร้อยรัด ผมมองเห็นทุกอย่างทะลุปรุโปร่ง
หลังจากนั้น ผมพยายามคิดชื่อบทให้น่าสนใจ และความคิดต่างๆจะหลั่งไหลตามมา แต่ทุกสิ่งไม่ง่ายดายปานนั้น ผมมีอุปสรรคมากมาย ต้องทำงานประจำ ต้องจัดรายการวิทยุ ต้องรวบรวมคนก่อตั้ง SIU บางครั้งทำงานจนไม่สบาย แต่ผมก็รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา เพื่อวนกลับมาทำงานอย่างสม่ำเสมอ จนเมื่อใกล้ปิดเล่ม ผมมีความรู้สึกวาบเข้ามาว่า “หากเป็นเรื่องมังกรคู่ฯที่ผมชอบมาก แต่ยังไม่ชอบอย่างแรงกล้าเท่าจอมคนฯ” ผมคงเลิกล้มไปก่อน เพราะพลังใจยังไม่สูงพอที่จะต่อกรกับอุปสรรคต่างๆที่ถาโถม ดังนั้น การทำในสิ่งที่รักอย่างเต็มล้น จึงเป็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ
“คุณต้องมีพลังใจมากพอในการผลักดันผลงาน ต่อสู้กับอุปสรรค และการจะมีกำลังใจมากพอ คุณต้องรักมันอย่างล้ำลึก รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับมัน”
จำไว้ว่า ทุกงานที่ยิ่งใหญ่นั้น เหตุการณ์ต่างๆจะไม่เป็นเส้นตรง คิดตามตรรกะได้ยาก ดังนั้น ในช่วงที่ย่ำแย่ มองไม่เห็นความหวัง คนที่ไม่มีพลังใจเพียงพอจะถอยหนีไปก่อน เพราะพยายามตั้งนาน เสียเงิน เสียเวลาไปมากมาย แต่กลับได้ผลงานมาน้อยนิดยิ่ง หารู้ไม่ว่า อีกเพียงไม่นาน ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จะตามมา และไม่เป็นแบบเส้นตรงคือ พุ่งทะยานขึ้นมากมาย ชดเชยกับในช่วงต้นที่พุ่งขึ้นช้ามาก
หากเราไม่ตระหนักตรงนี้ คิดตามตรรกะ เราต้องพ่ายแพ้แน่นอน และนี่คือ สิ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จมีน้อยยิ่งนัก ไม่ใช่ว่าไม่เก่ง แต่เชื่อในตรรกะมากเกินไป
สุดท้าย ระหว่างที่รอคุณสุรศักดิ์ เป็นบรรณาธิการปรับแก้ถ้อยคำ ผมกลับไม่มีความรู้สึกกังวลเหมือนตอนแรก ว่าจะมีสำนักพิมพ์ไหนรับพิมพ์ ไม่ใช่เพราะผมเกิดอัตตาอหังการ ว่าผลงานดีเลิศ แต่ผมรู้สึกรักในสิ่งที่ทำ รู้สึกโล่งอก ที่ในที่สุด ความฝันในใจผม ได้ผลิดอกออกมาเป็นรูปร่าง ที่ผมพึงพอใจ แน่นอน มันยังไม่เต็มร้อย แต่ผมทำเต็มที่ ทำอย่างสุดฝีมือ เช่นเดียวกับการจัดรายการเศรษฐศาสตร์ตลาดสด
รุ่นพี่เห็นผมยุ่งมาก แนะนำว่า ตอนนี้รายการอยู่ตัวแล้ว ผมพิสูจน์ความสามารถเสร็จสิ้นแล้ว อาจลดทอนความเหนื่อยยากเคร่งเครียดลง ด้วยการคิดรายการแบบคร่าวๆ ไม่ต้องเตรียม Script ผมตอบฉับพลันว่า ไม่ได้ ผมไม่อยากทำอะไรธรรมดา ผมต้องทำให้เป็นเลิศ ให้ดีที่สุด แต่ผมกลับลืมไปแล้ว หลายครั้ง ผมก็ทำแบบขอไปที ผมจึงวิเคราะห์ตัวเองอย่างล้ำลึกว่า ที่คนเราทำอะไรอย่างครึ่งๆกลางๆนั้น เป็นเพราะเขาไม่ได้รักมันจริง เขาทำเพื่อเงิน ทำเพื่อประทังชีวิต ทำเพราะถูกบังคับ แต่หากเป็นบางอย่างที่คุณรักมันอย่างแท้จริงแล้ว คุณจะทุ่มเททุกอย่างเพื่อมัน ยอมเจียดเวลาเท่าที่มี เพื่อทำให้เป็นเลิศ
แน่นอน แค่เพียงความรักแรงกล้า ไม่อาจผลักดันงานใหญ่ให้สำเร็จ ยังมีองค์ประกอบต่างๆมากมาย แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ ว่างานของเราส่งผลต่อคนทั้งประเทศ หากเราทำมันได้ดีเลิศ และการจะทำได้ดีเลิศนั้น เราต้องรักมันอย่างแรงกล้า พอที่จะทำจนสำเร็จ ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ แล้วล้มเลิก นี่คือ ปัจจัยสำคัญที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป เมื่อไปยึดติดกับแผนการอันล้ำเลิศ ปัญญาในการช่วงชิง จึงคิดว่า ทำงานอะไรย่อมสำเร็จ สุดท้าย เมื่อเจออุปสรรค ไม่สามารถยืนหยัด ความล้มเหลวจึงเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เพียงเพราะเขามองข้าม พลังของความรัก
ผมอยากสรุปปิดท้ายว่า “การทำงานที่ดีที่สุด คือ การลื่นไหลเป็นหนึ่งเดียวกับงาน มันเป็นความรู้สึกของการหลอมรวม ไม่แบ่งแยกเขาแยกเรา มีพลังบางอย่างที่เชื่อมร้อย เรา งาน และจักรวาล ให้เปล่งประกายเจิดจ้าถึงขีดสุด”
คุณจะไม่มีวันรับรู้ความรู้สึกนั้น หากคุณไม่ทดลองทำมัน
แล้วเมื่อคุณได้ทำจนสำเร็จแล้ว 1 ครั้ง คุณจะสัมผัสถึง “ความหมายของชีวิต” ซึ่งศาสนาทั้งหลายได้ระบุไว้ แต่น่าเสียดายว่า ศาสนาในปัจจุบันแยกออกจากชีวิตประจำวัน คนจึงเข้าถึงไม่ได้ แต่ผมกำลังจะสื่อกับทุกคน เพื่อให้ความหมายอันเก่าแก่ได้ปรากฏขึ้น แล้วคุณจะไม่ต้องพึ่งยาเสพติด ละครน้ำเน่า และอบายมุขทั้งมวล เพื่อสร้างความหมายให้ชีวิต แต่คุณจะค้นพบความหมายแท้จริงได้จากการทำงานที่รัก โดยจิตใจที่เปิดกว้าง เปี่ยมสติ รับพลังความรู้จากรอบด้าน เพื่อผลักดัน “วิถี” จนถึงที่สุด คุณจะค้นพบ “TAO” ซึ่งมีพลังอันน่าหลงใหล
ความสำเร็จครั้งแรก เป็นเพียง “นิพพานชิมลาง” คุณต้องไม่หยุดสร้างสรรค์ อย่าปล่อยให้ความสำเร็จเดิมมาเป็นกำแพงขวางกั้น คุณต้องกล้าสร้างสรรค์ใหม่ ก้าวไปในจุดที่ไม่มีใครเคยไป หากคุณหยุดนิ่ง อาจได้รับบทเรียนเจ็บแสบแบบ Jobs ซึ่งในท้ายที่สุด เป็นยาแก้โรคที่แสนแพง ในการบังคับให้ Jobs สร้างสรรค์ iPod ออกมา ดังนั้น เราทุกคนควรตระหนักว่า “ชีวิตที่ไม่น่าเบื่อ มีสีสันถึงขีดสุด” คือ ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง แต่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ อย่าให้สิ่งใดมาหยุดยั้งเรา ความเชื่อที่ว่า เราทำงานยิ่งใหญ่ สามารถกำหนดประเทศ และพัฒนาได้ไม่สิ้นสุด เป็นการผลักดันให้ตัวเราหลอมเข้ากับวิถีฟ้า แล้วเมื่อความสำเร็จเกิดขึ้นต่อเนื่อง คุณจะได้สัมผัส TAO เวอร์ชั่นเต็ม เกิดความต่อเนื่องยืนนาน ไม่หยุดนิ่งแค่ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีความเปราะบางและไม่ยั่งยืน ยิ่งถ้าทำให้เรายึดติดกับความสำเร็จเดิม กลับเป็นอันตราย
หวังว่า ผู้ฟังทุกคน จะค้นพบ “ความหมายอันเต็มเปี่ยมของชีวิต” ก้าวเดินบนวิถี Tao ที่ยั่งยืน
ตอนแรก ผมอยากสรุปเนื้อหา “ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้” ของคุณบัณฑิต อึ้งรังษี แต่ผมคิดว่า ควรพูดในสิ่งที่ไม่มีในหนังสือ แต่ใช้ประกอบการอ่านหนังสือได้อย่างเสริมพลังจะดีกว่า และแล้วภารกิจของผมได้บรรลุแล้ว

การประยุกต์ใช้ในระดับสังคม ที่ผมต้องเน้นในระดับบุคคลก่อน เพราะเชื่อว่า ปัจเจกบุคคลเป็นรากฐานของประเทศ หากเราสามารถพัฒนาเพื่อนร่วมชาติของเราให้มีคุณภาพถึงขั้นความเป็นเลิศได้ เพียง 1 พันคน ชาติของเราจะยกระดับอย่างฉับพลัน จากประเทศกำลังพัฒนา ถีบทะยานขึ้นสู่ประเทศพัฒนา นี่คือภารกิจของเรา ผมเชื่อมั่นว่า เราทำได้
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมได้คุยกับรุ่นน้องถึงเรื่องทฤษฎี “พ่อค้าคนกลาง” แต่สุดท้ายคุยยาวไปถึงเรื่องการพัฒนาชาติ ซึ่งผมได้ความคิดดีๆมากมาย ผมรู้สึกว่าการสนทนากับนักปราชญ์ ทำให้เราฉลาดขึ้นเสมอ นี่อาจเรียกว่า “ของดี ส่งผลกระทบยาวไกล” หรือ The Best aggregate the Goods ดังนั้น ขอเพียงปัจเจกชนผลิดของดีขึ้นมา ย่อมส่งผลสะท้อนยาวไกลต่อบุคคลอื่นอย่างแน่นอน และในท้ายที่สุด ด้วยพลังการประสานของมือที่มองไม่เห็น ของดีย่อมช่วยพัฒนาประเทศชาติอย่างล้ำลึก วลีเด็ดที่ว่า “หนึ่งคน กำหนดประเทศ” จึงมีความสำคัญ เราต้องเชื่อมั่นว่า งานที่เราทำมีความสำคัญ และมันเป็นเช่นนั้นจริงในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะยุคนี้ทุกอย่างสามารถขายได้ ขอเพียงมีคุณภาพเป็นเลิศ จนคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ ดารา นักแสดง ศิลปิน ภาพเขียน งานศิลปะ วรรณกรรม ล้วนแต่ทำเงินได้เป็นกอบกำ ปัญหาสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ของคุณ มีคุณภาพเป็นเลิศหรือไม่
การทำสิ่งที่รัก และยังสามารถทำมาหากินสร้างตัวได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป โลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้ท่าน
เมื่อมีคนที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์เป็นเลิศได้แล้ว ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการต่อเชื่อมกันเองระดับชาติ อย่างที่บอกไปแล้ว The Good = Series of The Best มันมีสายใยที่มองไม่เห็นในการต่อเชื่อมของคนในชาติ ส่วนปัญหาเรื่องรากเหง้าความเป็นไทย เรื่องชาติเรารักสนุกไม่จริงจัง อย่างที่ได้คุยกับรุ่นน้องในคราวที่แล้ว อาจไม่สำคัญมากนัก
ดังนั้น ตอนนี้ผมกังวลเพียงแต่ว่า ความเป็นเลิศของเรามีน้อยเกินไป เราไม่สามารถฝึกฝนคนเหล่านี้ขึ้นมาได้มากเพียงพอ ผมขอแค่ 1 พันคน ชาติจะเปลี่ยนพลิกครั้งใหญ่
ผมกำลังคิดโครงการ “เครือข่ายความเป็นเลิศ” ซึ่งเสริมต่อจาก SIU เป็นการให้บริการเพื่อขัดเกลา ปลุกปั้นคนเก่ง ทั้งเพื่อความสำเร็จของตัวเขา จนถึงระดับมั่งคั่ง เสพสุขกับชีวิต และความสำเร็จของชาติเรา ซึ่งแยกไม่ออกจากการพัฒนาปัจเจกบุคคล
“หนึ่งคนอาจกำหนดประเทศ แต่หนึ่งคนไม่สามารถสร้างประเทศได้”
การสร้างทีมงานและอาศัยอัจฉริยะของการประสานวง ดึงดูดพลังปัญญาสังเคราะห์ จึงยังมีความจำเป็น
เราอาจต้องยกยอด การพัฒนาประเทศ ไปไว้ครั้งหน้า และผมสัญญาว่า จะพยายามนำหนังสือดีๆ มาวิเคราะห์แยกแยะให้ท่านผู้ฟังในโอกาสต่อไป เพราะบัดนี้ผมได้ปูพื้นฐานความมุ่งมั่นให้ท่านอย่างแน่นหนาแล้ว เชื่อว่าจะเป็นทุนรอนทำให้ท่านแสวงหาแนวทางของตน บุกบั่นแสวงหาความรู้จากหลากหลายแหล่งพลัง โดยเฉพาะหนังสือ ซึ่งมีค่าดั่งทองคำ และขาดไม่ได้สำหรับผู้ต้องการความสำเร็จ
|
This entry was posted on 7:58 PM and is filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. You can leave a response, or trackback from your own site.

0 comments: