October 26, 2007
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ : Siam Intelligence Unit
1. ความปวดร้าวของ Taxi : ในชะตากรรมประเทศ มีชะตากรรมบุคคล
ผมได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับ Taxi ได้รับฟังความรู้สึกที่เจ็บปวดจิตใจ เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
ผมยังได้พูดคุยกับแม่ค้าในห้างสรรพสินค้า พวกเธอครุ่นคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรให้วันนี้มีรายได้เพียงพอจ่ายค่าเช่าแผงลอย ยังไม่กล้าคิดถึงการได้รับกำไรเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
“ในชะตากรรมประเทศ มีชะตากรรมบุคคล”

จากเดิมที่จะพูดเรื่อง The wealth of nation แต่เมื่อพบ the poor of Taxi เลยรู้สึกสะท้อนใจ จึงขบคิดแต่เพียงว่า เราจะมีส่วนช่วยพวกเขาได้อย่างไร นี่เป็นส่วนเล็กๆของเศรษฐกิจ ที่วิชาเศรษฐศาสตร์มองข้าม หรือแกล้งมองไม่เห็น เรื่องใหญ่ๆ เช่น ค่าเงิน มีคนพูดเยอะแล้ว และเราได้พูดไปพอสมควร มาวันนี้ขอให้ Taxi ของผมเป็นพระเอกบ้าง
ทางออกที่ 1 ให้เงินทิป Taxi 100 บาท ซึ่งสุดท้าย ยังคงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ทางออกที่ 2 ปฏิวัติประเทศ โค่นล้มระบบทุนนิยม เป็นทางออกที่ดูน่าสนใจ แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่า การปฏิวัติส่วนใหญ่ เป็นเพียงการเปลี่ยนผู้กดขี่เท่านั้น
ทางออกที่ 3 สนับสนุนคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง เป็นแนวคิดที่น่าสนใจอีกเช่นกัน แต่สมมติว่า พวกเราสามารถโค่นล้มระบบทุนนิยม จัดการให้ปัจจัยการผลิตทั้งหมดตกเป็นของสังคม คนงานทั้งมวลได้โอกาสในการปกครองประเทศ แต่พวกเขาจะสามารถบริหารประเทศซึ่งนับวันแต่จะสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นได้อย่าง ไร ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการสร้างนวัตกรรม การสนับสนุนธุรกิจมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ แต่ทั้งหมด ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เนื่องจาก ในความยากจนและการถูกกดขี่อย่างยาวนาน พวกเขาจึงไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษามาก่อน การแก้ไขด้วยวิธีนี้จึงมีปัญหาเช่นกัน
ในที่สุด เราพบว่า Taxi เพียงต้องการให้มีคนมาขึ้นรถอย่างสม่ำเสมอ หากินคล่องตัว และกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา น่าจะเป็นชนชั้นกลาง เพราะคนรวยส่วนใหญ่ ย่อมมีรถส่วนตัว สำหรับ คนจนต้องขึ้นรถเมล์
แต่ทำไมในช่วงนี้ ชนชั้นกลางจึงไม่ใช้บริการ Taxi ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะว่า พวกเขามีรายได้ลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย ชนชั้นกลางของมีจำนวนน้อยเกินไป เนื่องจาก ธุรกิจของประเทศ เน้นไปที่ค่าแรงราคาถูก ไม่สนับสนุนธุรกิจที่มี margin สูง มีนวัตกรรม มีการสร้าง Brand จึงทำให้ประเทศมีจำนวน Blue Collar มากกว่า White Collar ซึ่งเป็นชนชั้นกลางและมีกำลังทรัพย์เพียงพอในการใช้บริการรถ Taxi
2. Love & Inspire
ความรัก สามารถช่วยชาติได้อย่างไร
หากว่า J.K Rowling ไม่ยืนหยัดในความฝัน ทุ่มเททุกอย่างเพื่อความรักในการประพันธ์ จนบัดนี้ เธอยังคงไม่สามารถช่วยชาติด้วยการเสียภาษีจำนวนมหาศาล ที่ร้ายยิ่งกว่า คือ การต้องแบมือคอยรับเงินประกันสังคมอยู่ร่ำไป ที่น่าตั้งข้อสังเกตขบคิด คือ การที่เธอมีวันคืนอันรุ่งโรจน์เช่นนี้ได้ ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ระบบ Social Safety Net ของประเทศพัฒนา ซึ่งทำให้ ประชาชนสามารถหยุดพักจากการทำสิ่งที่ไม่รัก โดยได้รับเงินยังชีพ ให้สามารถอดทนต่อสู้ ในการทำสิ่งที่รัก จนสามารถประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ใช่ชาติร่ำรวย ซึ่งสามารถจ่ายเงินประทังชีวิต เพื่อซื้อเวลาให้ประชาชนสามารถทุ่มเทตนเองเพื่อตามหาความฝันได้ ดังนั้น ทางออกที่น่าจะเป็นจริงได้ คือ ชนชั้นกลาง ที่พอมีเงินเหลือเก็บ ต้องพยายามสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งไปพ้นจาก ยุทธศาสตร์ค่าแรงราคาถูก
ผมค้นพบว่า การสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้คนบุกบั่นฝ่าฝันบนเส้นทางแห่งความฝันอันคด เคี้ยวยืดยาว ที่สำคัญ มนุษย์ถูกกำหนดด้วยความโลภและความกลัว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์โนเบลรุ่นหลัง ได้ทดลองยืนยันไว้ เราจึงต้อง inspire เพื่อให้พี่น้องร่วมชาติของเราลุกขึ้นสู้ ทำลายความกลัว ทำลายการคิดตามๆกัน
“จงทำตามความรัก love จงทำตามความฝัน dream”
แต่ความรู้สึกแรงกล้าเช่นนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคนช่วยจุดประกาย เพราะจิตใจของมนุษย์เปราะบางเกินไป มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่สามารถสร้างพลังใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเองขนานใหญ่ เพื่อเดินทางสู่ความฝันอันทุรกันดาร ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการยืนหยัดต่อสู้กับคลื่นมหาอุปสรรคที่ถาโถมโหมกระหน่ำ เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีคนเสนอให้สร้างระบบการจัดเรตติ้งบทเพลงที่มีเนื้อหาหดหู่ เศร้าสร้อย ที่อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน โดยนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
แต่รุ่นพี่ของผมได้วิจารณ์ว่า บทเพลงของญี่ปุ่น กลับตรงข้ามกับเพลงไทย เนื้อหาส่วนใหญ่กระตุ้นให้ผู้คนลุกขึ้นสู้ เป็นบทเพลงให้กำลังใจ ปลุกเร้าพลังชีวิต ใช่หรือไม่ว่า สิ่งละอันพันละน้อย เช่นนี้ กลับเป็นส่วนเสี้ยวสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันให้ “ญี่ปุ่น” ซึ่งเริ่มวิ่งแข่งบนเส้นทางทุนนิยมพร้อม “สยามประเทศ” สามารถทิ้งเพื่อนแท้อย่างเรา ไปแบบไม่เห็นฝุ่น
Steve Jobs เป็น “มหาบุรุษ” อีกท่านหนึ่ง ที่ประยุกต์ใช้ love & Inspire ในการทำตามความฝัน ซึ่งสุดท้ายมีผลต่อชะตากรรมของชาติ สร้างธุรกิจ สร้างการจ้างงาน 4000 กว่าคน เมื่ออายุยังไม่ถึง 30 ปี ที่สำคัญ พนักงานที่จ้างจำนวนมาก ไม่ใช่ “แรงงานราคาถูก” แต่เป็นแรงงานฝีมือ Upper White Collar ในการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ นี่ยังไม่ได้นับรวมไปถึง การต่อยอดส่งผ่านความมั่งคั่งและมูลค่าเพิ่มไปยังธุรกิจอื่นๆอีกมากมาย ล่าสุด Jobs ได้ช่วยปฏิวัติอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ด้วยการร่วมมือกับ Walt Disney ในการผลิตภาพยนตร์การ์ตูน animation
ผมอยากให้ทุกคนได้อ่าน ปาฐกถา Stanford 2005 ของ Steve Jobs เรื่องที่ 2 “love and loss” ซึ่งอาจทำให้ท่านทั้งหลายได้รับเชื้อแห่งความเชื่อมั่นระบาดใส่ จนลุกขึ้นมาต่อสู้ เปลี่ยนแปลงตนเองขนานใหญ่ ก้าวสู่เส้นทางความรักในงานที่ทำ อย่างไม่มีวันหวนกลับมาเป็นคนตายซากอีกต่อไป
สำหรับ เรื่องที่ 1 “Connecting the dots” สนับสนุนให้ทุกคนบนโลก เชื่อมั่นบนเส้นทางความฝัน ซึ่งไม่อาจ มองเห็น แต่สามารถใช้ “ศรัทธา” ในการชี้นำเส้นทาง ทำให้ผมหวนนึกถึงเพลง “ความเชื่อ (ฺbelieve)” ของ Body Slam แต่เนื่องจากเราอาจไม่มีพลังใจแรงกล้าเท่าเทียม Steve Jobs มหาบุรุษซึ่งร้อยปียากพบพาน เราจึงต้องรวมพลังกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
Love & Inspire จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่พวกเราต้องหมั่นปลุกเร้ากระตุ้นกันและกันอยู่เสมอ
3. Opportunity Cost
สังคมต้องสูญเสียคนเก่งไปมากเท่าไร ในภารกิจ “จมปลัก เบื่อหน่าย ฝืนทนทำในสิ่งที่ตนเองไม่รัก” อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง หมดอาลัยตายอยาก แทนที่จะนำทรัพยากรล้ำค่าเหล่านี้ มาช่วยกันพัฒนาชาติ ให้เจริญรุ่งเรือง
Opportunity Cost มหาศาลเช่นนี้ ใครจะเป็นผู้แบกรับ
“บัณฑิต อึ้งรังษี” เป็นตัวอย่างอันดี เช่นเดียวกับ J.K Rowling ในการต่อสู้ หลุดพ้นจาก Opportunity Cost อันโง่เขลาสูญเปล่า รายการ “เศรษฐศาสตร์ตลาดสด” ของเรามีความเชื่อว่า “การทำในสิ่งที่รัก เป็นคำตอบของยุคสมัย” เพราะการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องอาศัยความเก่งชำนาญเฉพาะทาง ไม่ใช่เก่งแบบธรรมดาทั่วไป แต่ต้องเลิศล้ำเจิดจรัส เราจะสร้าง “ความเป็นเลิศ” ได้อย่างไร ถ้าเราไม่ทุ่มเทอย่างสุดกำลัง แต่การจะทุ่มเทอย่างสุดฝีมือ สุดจิตสุดใจได้นั้น เราต้องมีความรักอันยิ่งใหญ่ต่อสิ่งที่ทำ
ประเทศของเรายึดติดกับ GDP ในระยะสั้นมากเกินไป จึงต้องประสบชะตากรรมเจ็บช้ำในวันนี้ เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งมวล เราต้องรู้จักพิจารณาด้วยสายตายาวไกล การที่เยาวชนของเราทำตามความฝัน ทำในสิ่งที่รัก อาจไม่เห็นผลประโยชน์ในระยะสั้น แต่จะสร้างคุณค่ามหาศาลในระยะยาว สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศชาติอย่างไร้ขีดจำกัด เราคงไม่ต้องยกตัวอย่าง Steve Jobs หรือ J.K Rowling แต่คุณ “บัณฑิต อึ้งรังษี” ย่อมเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า “การทำสิ่งที่รัก” มีคุณค่าความหมายเพียงใด
คนเราไม่ได้ถูกสร้างมาให้เหมือนกัน แต่ละคนมีลายนิ้วมือและดวงชะตาเป็นของตนเอง ดังนั้น ไม่ควรจะต้องถูกบังคับให้เป็นหมอ วิศวกร ตามๆกันไป การทำงานที่แตกต่างกัน ตามแต่ความถนัดรักชอบ ย่อมเป็นการกระจายความเสี่ยงของชาติ Human Resouce Portfolio ให้สามารถรักษาผลตอบแทนความมั่งคั่งให้ประเทศไทย มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่สะดุดติดขัดเพราะภัยคุกคามจากปัจจัยใดๆ ที่ไม่คาดคิด
เราไม่ควรพิจารณาต้นทุนของชาติ จากการลงทุนในทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณา ต้นทุนค่าเสียโอกาส Opportunity Cost ในการที่ “ทรัพยากรบุคคล” ซึ่งถนัดรักชอบมีความเป็นเลิศในการทำงานชนิดหนึ่ง ต้องถูกบังคับให้ไปทำงานในอีกชนิดหนึ่ง หากปล่อยให้บุคคลนั้นได้ทำงานที่ตนเองรักและเชี่ยวชาญแล้ว ผลประโยชน์ตอบแทนมหาศาลที่ชาติจะได้รับ อาจมากมายจนวัดประเมินมิได้ แต่เรากลับปล่อยให้ผลประโยชน์มหาศาลนี้ต้องหลุดมือไป
ช่างน่าเสียดายยิ่งนัก
4. On Strategy ว่าด้วย “ยุทธศาสตร์”
ความฝัน แรงบันดาลใจ และการต่อสู้ฝ่าฟันอย่างแรงกล้าไม่ท้อถอย ยังคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการประสบความสำเร็จ “ยอดคน สำเร็จกิจการใหญ่” ยังต้องมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง จึงทำให้ความฝันเป็นจริงได้
อย่างที่เคยกล่าวถึง เอ็มเค, โคคา และเท็กซัส ซึ่งได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ปัจจัยกำหนดแพ้ชนะ อยู่ที่ความยอดเยี่ยมของยุทธศาสตร์ สมมติว่า ความฝันของทั้งสามบริษัท คือ การทำสุกี้ให้เป็นเลิศ แต่หากไม่มีการวางยุทธศาสตร์ที่ดี สร้างระบบบริหารจัดการ การตลาด และ logistic ที่ดีเลิศ บริษัททั้งหลาย ย่อมไม่อาจบรรลุความฝันได้
จีนและญี่ปุ่น เป็นชาติที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญการวางแผนยุทธศาสตร์ เพราะประชาชนในชาตินิยมชมชอบกีฬา “หมากล้อม” ซึ่งไม่ได้ตัดสินแพ้ชนะกันที่ การคิดเชิงเทคนิค การต่อสู้ฟาดฟันอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดสำคัญในการตัดสินแพ้ชนะของเกมหมากรุกทั่วไป
สำหรับ “เกมหมากล้อม” ผู้เล่นยังต้องฝึกคิดในเชิงประนีประนอม มองอย่างมีวิสัยทัศน์ พิจารณาภาพรวมของสถานการณ์ทั่วกระดาน บางครั้งอาจต้องยินยอม “ทิ้งเล็กเลือกใหญ่” ยังต้องรู้จักวิธีการสร้างความสมดุลให้เกม โดยเฉพาะการใช้ win-win strategy ในการหาประโยชน์ให้ตนเอง บนเส้นทางการหยิบยื่นประโยชน์ให้ผู้อื่น หรือแม้แต่ฝ่ายตรงข้าม
ในปัจจุบัน พันธมิตรทางธุรกิจ มีความสำคัญยิ่งยวด เราต้องจดจำบทเรียน “กองทัพ 100 หมื่นของฝูเจียน” ซึ่งพบความปราชัยที่ริมแม่น้ำเฝยสุ่ย โดยพ่ายแพ้ให้กับ “กองกำลังเป่ยฝู่” ของ “เซี่ยเสียน” ซึ่งมีกำลังทหารเพียง 8 หมื่นคน ยิ่งต้องจดใจว่า “โจโฉแตกทัพเรือ” ด้วยกลศึกที่ซับซ้อนแยบยลเยี่ยงไร “อ้วนเสี้ยวพ่ายศึกกัวต๋อ” เพราะสาเหตุลึกซึ้งอันใด ทั้งหมดล้วนแสดงให้เป็นว่า “ลำพังเพียงกำลังทรัพยากรมหาศาล ไม่จำเป็นต้องได้รับ ชัยชนะ” ที่น่าขบคิด คือ ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ ล้วนได้รับพันธมิตรที่เข้มแข็งในการช่วยเหลือต่อการกำหนดชัยชนะ โดยเฉพาะพันธมิตรที่ได้รับการหยิบยื่นทางอ้อมจากฝ่ายตรงข้าม เป็นความผิดพลาดที่ผู้เข้มแข็งหรืออ่อนแอ ล้วนต้องระมัดระวัง
การทำในสิ่งที่รัก ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีในการสำเร็จกิจการใหญ่ เพราะทำให้องค์กรและบุคคลสามารถพัฒนาความชำนาญเฉพาะทาง เพิ่มความเลิศล้ำแข็งแกร่งให้กับกองทัพธุรกิจ แต่ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ยังต้องการมากกว่านั้น องค์กรจะต้องมี “ผู้บัญชาการ” ซึ่งช่วยจัดวางกองกำลังทรัพยากร กำลังบุคลากร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยึดกุมชัยภูมิที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม ในยุคโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก
ความรู้มูลค่าเพิ่ม จึงเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจ เป็นส่วนเสี้ยวสำคัญที่ช่วยแนะนำผู้บริหารองค์กร ให้สามารถวางยุทธศาสตร์อย่างถูกต้อง ในปัจจุบัน องค์กรยังต้องพึ่งพา “ความรู้นอกกรอบ” ผู้บริหารต้องรู้จักขบคิดในมุมที่แตกต่าง เช่น Internet ในร้านกาแฟ ซึ่งมีคนหัวใส ฉับไว พัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็น Internet Cafe
สำหรับ ยุทธศาสตร์ของชาตินั้น อันดับแรก จึงต้องมุ่งไปที่ “ธุรกิจความรู้มูลค่าเพิ่ม” ซึ่งรูปแบบหนึ่งที่ผมคิดค้นคว้าขึ้นมาได้ คือ Knowledge on Demand เป็นธุรกิจบริการตอบคำถามแบบเฉพาะทาง ขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะของลูกค้า บริการนี้น่าจะสามารถเติมเต็มช่องว่าง ความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงของแต่ละบริษัทและบุคคลทั่วไป ซึ่งความรู้จาก Internet ไม่สามารถตอบสนองได้
|
This entry was posted on 7:59 PM and is filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. You can leave a response, or trackback from your own site.

0 comments: