July 2, 2010
บทความนี้แปลมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ In the Company of Giants: Candid Conversations with the Visionaries of the Digital World โดยเป็นการสัมภาษณ์ Steve Jobs เจ้าของบริษัท Apple เกี่ยวกับแนวคิดและมุมมองในการคัดเลือก “สุดยอดคนเก่ง” มาร่วมงานกับบริษัท
“คนเก่ง” ประเภทไหนที่คุณเฟ้นหาและว่าจ้างตั้งแต่บริษัท Apple ไปจนถึง NeXT และ Pixar ?
ผมมักจะสนใจคนเก่งที่รู้จักทำงานร่วมกับคนอื่น งานที่สำคัญของบริษัทไม่เคยสำเร็จได้จากแรงงานเพียง 2-3 คน มนุษย์บางคนสามารถทำงานชิ้นเดียวได้ล้ำเลิศเช่นเดียวกับ Michelangelo แต่ก็มีงานบางอย่าง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และ เครื่องบินโบอิ้ง 747 ซึ่งต้องการกลุ่มคนที่หลากหลายมาร่วมกันสร้างสรรค์
ในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะของคนที่หลากหลายให้ดีเลิศนั้น คุณต้องเลือกเฟ้นเฉพาะคนที่พิเศษสุดเท่านั้น


สิ่งที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน ก็คือ ความแตกต่างระหว่างความธรรมดากับความดีเลิศไม่เคยเกิน 2 เท่า ตัวอย่างเช่น การว่าจ้างแท็กซี่ที่ดีที่สุดจะช่วยประหยัดเวลาเพียง 20 % เมื่อเทียบกับแท็กซี่ธรรมดา ในวงการคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน สุดยอด PC ก็ดีกว่าเครื่อง PC ธรรมดาเพียง 30 % เท่านั้น ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเพียงพอที่จะใส่ใจ
แต่สำหรับในวงการที่ผมเกี่ยวข้องและใช้ชีวิต โดยเฉพาะการออกแบบฮาร์ดแวร์นั้น ผมได้สังเกตว่าความแตกต่างระหว่างคนธรรมดาและคนระดับสุดยอดนั้นอยู่ในระดับ 50 หรือ 100 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้น คุณจึงต้องเลือกที่จะว่าจ้างคนระดับยอดอัจฉริยะเท่านั้น (the creaam of the cream) คุณจะต้องสร้างทีมงานที่เต็มไปด้วยคนระดับ A+ เพราะว่าคนระดับ A+ กลุ่มเล็กๆนี้เองที่จะช่วยขับเคลื่อนคนระดับ B และ C กลุ่มใหญ่ให้เดินหน้าต่อไป นี่คือ ภารกิจของผมที่ต้องใช้ความพยายามเหลือแสน
คุณคิดว่าได้ว่าจ้างคนที่ดีที่สุดหรือยัง ?
มันไม่ใช่แค่การว่าจ้างพวกเขา หลังจากจ้างมาแล้ว คุณจะต้องบ่มเพาะฟูมฟักสภาพแวดล้อมที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกแวดล้อมด้วยคน เก่งสุดยอดที่ทัดเทียมกับเขาด้วย และงานที่พวกเขาทำก็ยิ่งใหญ่กว่าความสามารถของพวกเขาแต่ละคน ดังนั้น การว่าจ้างคนเก่งจึงเป็นงานที่ยากเกินกว่าจะทำคนเดียว ผมจึงต้องสร้าง “ทีมงานเฟ้นหาคนเก่ง” และการปลุกเร้าวัฒนธรรมองค์กรที่กระหายโหยหาเพื่อนร่วมงานที่เก่งที่สุด นี่คือ วิธีทีดีที่สุดในการสร้างทีมงานที่เต็มไปด้วยคนเก่ง
ผู้สมัครงานจะต้องสนทนากับพนักงานไม่ต่ำกว่า 12 คนในแผนกที่หลากหลายของบริษัท โดยจะต้องไม่จำกัดเฉพาะในสายงานที่ผู้สมัครสนใจเท่านั้น นี่คือ วิธีที่จะทำให้ “คนเก่ง” จำนวนมากสามารถเชื่อมโยงกันทั่วบริษัท และรู้สึกว่าวัฒนธรรมองค์กรจะสนับสนุนพวกเขา ที่สำคัญพนักงานปัจจุบันจะสามารถคัดค้านการรับพนักงานใหม่ที่ตนเองไม่พึงพอ ใจได้
วิธีการของคุณสิ้นเปลืองเวลาเกินไปหรือเปล่า ?
แน่นอนเลยครับ ในกรณีที่ 9 ใน 10 ของพนักงานเห็นว่าผู้สมัครมีความสามารถอย่างหาตัวจับยาก หากมีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่เห็นว่าผู้สมัครยังสอบไม่ผ่าน เราก็จะไม่จ้างงานผู้สมัครคนนั้นเลย กระบวนการคัดเลือกค่อนข้างโหด สิ้นเปลืองเวลามหาศาล และอาจนำไปสู่ปัญหาได้ถ้าบริหารจัดการไม่ถูกต้อง แต่มันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการได้คนเก่งเลอเลิศเข้ามาร่วมงานกับเรา
สำหรับบริษัทเกิดใหม่ (startup) ผู้จัดการย่อมไม่ควรเสียเวลาอันมีค่าไปกับการเฟ้นหาคนเก่งใช่ไหม
ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรง ผมคิดว่ามันเป็นงานที่สำคัญมากสำหรับบริษัทเกิดใหม่ สมมติว่าคุณต้องการบริษัทที่จะมาเป็น “พันธมิตร (partner)” คุณก็ยินดีที่จะทุ่มเวลาในการค้นหา เพราะบริษัทพันธมิตรของคุณอาจจะใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของบริษัทคุณเลยทีเดียว
เมื่อเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทนั้น 10 คนแรกของบริษัทจะเป็นตัวชี้วัดว่าบริษัทจะสำเร็จล้มเหลว เพราะแต่ละคนนั้นก็ถือเป็น 10 % ของบริษัท ดังนั้น ทำไมคุณจึงไม่ให้เวลาที่มากพอในการคัดเลือกเฉพาะพนักงานระดับ A เท่านั้น เพราะถ้ามีเพียง 3 คนที่ไม่ได้เรื่อง มันก็หมายถึง 30 % ของบริษัทคุณจะย่ำแย่
บริษัทขนาดเล็กนั้นต้องพึ่งพาพนักงานชั้นเลิศมากกว่าบริษัทใหญ่
|
This entry was posted on 8:00 PM and is filed under . You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. You can leave a response, or trackback from your own site.

0 comments: